โครงการจัดตั้งห้องปฏิบัติการเพื่อการผลิตตัวต้นแบบและนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรม คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยบูรพา (BUU Informatics Fabrication Laboratory: Inform FabLab)
หลักการและเหตุผล
ด้วยคณะวิทยาการสารสนเทศ ซึ่งรับผิดชอบการจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ในสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาตัวต้นแบบและนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรม เพื่อแก้ปัญหาในการผลิตและการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการส่งเสริมให้นิสิตและบุคลากรได้มีพื้นที่ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ และการและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่สังคมให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับความต้องการของสังคมและโลกในปัจจุบัน ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับและเปิดโอกาสให้คณาจารย์ นักวิจัย นิสิตที่กำลังศึกษาในสังกัดของคณะวิทยาการสารสนเทศ ตลอดทั้งบุคคลทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ที่มีความสนใจในงานวิจัยสาขานี้ ได้มีพื้นที่ในการทำงาน จึงเห็นสมควรให้มีการจัดตั้ง BUU Informatics Fabrication Laboratory: FabLab ขึ้น ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดให้กับนิสิตและบุคลากรคณะวิทยาการสารสนเทศที่สนใจด้านเทคโนโลยีและการสร้างตัวต้นแบบด้วยเทคโนโลยี ซึ่งเป็นพื้นที่ในการคิด ประดิษฐ์ และทดลองแนวความคิดของตนเอง เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ต่อไป โดยในพื้นที่เปิดนั้น จะมีการเตรียมปัจจัยพื้นฐานในการทำงาน โดยนิสิตและบุคลากรคณะวิทยาการสารสนเทศสามารถใช้พื้นที่เปิดนี้ในการศึกษาหาความรู้ ทั้งด้วยตนเองและการรับความรู้จากการที่มีการจัดให้โดยวิทยากรมืออาชีพ และมีการร่วมกันทำงานเป็นกลุ่มหรือทีมงาน ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของการเรียนและการทำงานของนิสิตคณะวิทยาการสารสนเทศอย่างมีนัยสำคัญ
สถานที่ตั้ง
ห้อง IF-7T02 อาคารคณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยบูรพา
วิสัยทัศน์
“ผลิตนวัตกรรมที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของคณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยบูรพา”
พันธกิจ
- ให้บริการเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ และคำปรึกษาด้านเทคโนโลยีแก่ผู้ที่ต้องการพัฒนานวัตกรรม โดยเครื่องมือที่ให้บริการนั้น จะเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่สามารถผลิตต้นแบบจากแนวความคิดของนักพัฒนาได้
- จัดอบรมการพัฒนานวัตกรรมโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี
- สนับสนุนคณะวิทยาการสารสนเทศ และหน่วยงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยบูรพา ในการผลิตบัณฑิตในระดับต่าง ๆ ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพในด้านวิชาการ คุณธรรม และจริยธรรม
- ให้บริการวิชาการด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศที่หลากหลายและถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมแก่ชุมชนและสังคม
วัตถุประสงค์
-
- เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้นิสิตคณะวิทยาการสารสนเทศเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ
- เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการสร้างผู้ประกอบการเริ่มต้น (Startups) ในการสร้างและทดสอบต้นแบบชิ้นงานคุณภาพสูงและแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรม
- เพื่อสร้างพื้นที่เปิดในการเรียนรู้สู่ชุมชนเพื่อการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างชุมชนดิจิทัลในเขตพื้นที่ มหาวิทยาลัยบูรพา และ EEC
ตามกรอบแนวคิดในการจัดตั้ง BUU Informatics FabLab ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น จะเป็นการจัดตั้งพื้นที่เปิดสำหรับนักเรียน นักศึกษา รวมทั้งผู้ที่สนใจทั่วไป ให้สามารถเข้ามาสร้างแนวคิด ทดลอง และสร้างนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ทางด้านดิจิทัลได้ โดยมีการให้บริการเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์พื้นฐานเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างชุมชนการเรียนรู้และพัฒนาไปสู่บุคลากรด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างยั่งยืนต่อไป ซึ่งในการจัดตั้งนั้น คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยบูรพา จะเป็นหน่วยงานหลักในการให้การสนับสนุนเบื้องต้นในด้านบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและพื้นที่ในการทำงาน ส่วนเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่น ๆ ต้องได้รับการสนับสนุน เมื่อได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งแล้ว จะมีการแสวงหาความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาคชุมชน ภาคเอกชน เป็นต้น
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
- ได้ต้นแบบของพื้นที่เปิดเพื่อการกระตุ้นและส่งเสริมการคิดเชิงนวัตกรรมดิจิทัล และทดลองแนวความคิดในการสร้างนวัตกรรม
- ทำให้เกิดแหล่งผลิตนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ด้านดิจิทัล ซึ่งส่งผลให้เกิดผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น
- เกิดแหล่งเรียนรู้อย่างยั่งยืนที่เป็นจุดร่วมระหว่างสถาบันการศึกษากับชุมชน
- ช่วยก่อให้เกิดสังคมของบุคคลที่รักในด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
- ก่อให้เกิดการแบ่งปันองค์ความรู้ และการเรียนรู้ร่วมกันอย่างไม่มีข้อจำกัด
- ได้บุคลากรด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ยุคที่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ